กรณีศึกษาการนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) ในธุรกิจเช่าอุปกรณ์

บริษัท Rentex ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเช่าอุปกรณ์เครื่องเสียง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ได้นำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology)  มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน  จากเดิมที่ทางบริษัทฯใช้ระบบบาร์โค้ด  โดยระบบเดิมนั้นเมื่อทางบริษัทฯ มีการนำอุปกรณ์เข้าหรือออกจากคลังสินค้า  เจ้าหน้าที่ต้องทำการหาสินค้า  และทำการอ่านบาร์โค้ดของอุปกรณ์ทีละชิ้น  ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่เสียเวลาค่อนข้างมาก  บริษัท Rentex  มีเครื่องเสียงและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เช่ามากกว่าหนึ่งแสนชิ้น  และมีสาขามากกว่า 10 สาขา  ถึงแม้ว่ากระบวนการทำงานลักษณะดังกล่าว จะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที  แต่หากพิจารณาถึงปริมาณอุปกรณ์ที่ทางบริษัทมีอยู่   การทำงานในลักษณะดังกล่าวทำให้บริษัทเสียเวลาไปหลายชั่วโมง   เพื่อให้การทำงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพทางบริษัทจึงได้นำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) มาช่วยในการจัดการงานดังกล่าว

ในการใช้งานระบบอาร์เอฟไอดี (RFID Technology)  สำหรับบริษัท Rentex  ปัจจัยที่จำเป็นต้องพิจารณาได้แก่  (1) อาร์เอฟไอดีแท๊ก  (RFID Tag) ที่ใช้ติดบนชิ้นงาน  (2) เครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี (RFID Reader) (3) ระบบซอฟท์แวร์ที่สามารถรับข้อมูล  และทำการประมวลผลข้อมูลที่อ่านได้ อาร์เอฟไอดีแท๊ก (RFID Tag) ที่ทางบริษัทเลือกใช้นประเภทนี้ จะเป็นอาร์เอฟไอดีแท็ก (RFID Tag) ที่มีการออกแบบสำหรับการใช้งานที่เป็นแบบ Heavy Duty มีความคงทนสูง  และสามารถที่จะทำงานบนพื้นผิวที่เป็นโลหะได้   เนื่องจากชิ้นงานที่จะไปติดนั้น เช่น สายไฟ หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์  มีการใช้งานกลางแจ้ง  ทำให้ต้องทนความร้อน  และทนความชื้นได้   ในส่วนของเครื่องอ่านก็จะเป็นลักษณะเครื่องอ่านแบบมือถือ (Mobile RFID Reader)  เพื่อให้ผู้ใช้งานถืออุปกรณ์ดังกล่าว

ในเดือนธันวาคม 2020 บริษัท Rentex  ได้ทำการติดตั้งระบบอาร์เอฟไอดีทั้งหมด  10 สาขา  และทำการติดอาร์เอฟไอดีแท๊ก (RFID Tag) ที่อุปกรณ์ทั้งหมดจำนวน 200,000 ชิ้น หลังจากที่มีการใช้งานระบบดังกล่าว  ทางบริษัท Rentex พบว่า  สามารถลดเวลาการทำงาน จากปกติใช้เวลา 2.5 ชั่วโมงต่อคนทำงาน 2 คน  เหลือเพียง 15 นาทีต่อคนทำงานเพียงหนึ่งคน  ซึ่งหมายความว่า  ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเวลาไป 95%  นอกเหนือจากการลดเวลาการจดบันทึกชิ้นงานเข้าออกแล้ว   การทำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานยังช่วยลดขั้นตอนการทำงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย  เช่น  การที่ต้องให้เจ้าหน้าที่มาเสียเวลาในการเปิดกล่องทีละกล่อง  เพื่อทำการสแกนอุปกรณ์  เป็นต้น  เครื่องอ่านอาร์เอฟไอดีสามารถที่จะอ่านชิ้นงานที่บรรจุอยู่ในกล่องได้โดยไม่ต้องทำการเปิดกล่องทีละกล่อง   เมื่อทางบริษัท ฯ ทำให้งานหลายส่วนเป็นอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น  ทำให้เจ้าหน้าที่ของทางบริษัทสามารถไปทำงานอื่นได้  เช่น  ปรับปรุงการวางแผนการใช้อุปกรณ์  รวมถึงการปรับปรุงการบริการลูกค้า เป็นต้น

Source: HID Case Study, How Rentex Used RFID to Streamline Rental Asset Management           

ความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยี RTLS และ RFID

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีในการติดตามหรือค้นหาสิ่งต่าง ๆ เช่น บุคคล หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ สองเทคโนโลยีที่มีการกล่าวถึงเป็นประจำคือ  RTLS (Real Time Location Tracking) และ RFID (Radio Frequency Identification) และในหลายครั้งที่มีกล่าวถึงเทคโนโลยีทั้งสองสลับกัน  เนื่องจากเทคโนโลยีทั้งสองมีการใช้ในการติดตามหรือระบุตัวตนของสิ่งต่าง ๆ เหมือนกัน อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีทั้งสองก็มีความแตกต่างกันในหลายประการ

เทคโนโลยี RTLS เป็นการนำเทคโนโลยี Bluetooth, Ultra-wideband (UWB), หรือ Zigbee มาใช้ในการติดตาม  โดยวัตถุหรือสิ่งของที่จะติดตามต้อง Tag, iBeacon หรืออุปกรณ์ใดใด เช่น โทรศัพท์มือถือที่มี Bluetooth เป็นต้น โดย Tag ดังกล่าวจะส่งข้อมูลไปที่เครื่องรับ นอกจากนั้นในพื้นที่ที่ต้องการติดตามก็มีการติดเครื่องรับเพื่อรับสัญญาณจาก Tag ซึ่งอาจจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป  เช่น Anchor, Receiver เป็นต้น  นอกเหนือจากองค์ประกอบสองส่วนข้างต้น  ก็จะมีส่วนของซอฟท์แวร์ในการประมวลผลเพื่อระบุตำแหน่ง    ทันทีที่ Tag ส่งค่าไปที่เครื่องรับ  ซอฟท์แวร์ที่ต่อกับเครื่องรับจะทำการคำนวนค่าที่ได้รับ  และระบุตำแหน่งของ Tag  โดยปกติซอฟท์แวร์จะไปเชื่อมต่อกับแผนที่ของบริเวณที่ต้องการติดตาม  เพื่อที่จะให้สามารถแปลผลได้ว่า  Tag ดังกล่าว  อยู่ส่วนไหนของแผนที่  เช่นห้องประชุม หรือห้องอาหารเป็นต้น  เทคโนโลยีดังกล่าวตำแหน่งของวัตถุดังกล่าวจะคำนวนด้วยซอฟท์แวร์

ในส่วนของเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID)  ก็จะมีอุปกรณ์ที่ใกล้เคียงกัน  คือวัตถุหรือสิ่งของที่ต้องการจะติดตามก็จะต้องมี Tag หากเป็น Passive RFID ก็จะเป็น Tag แบบไม่มีแบตตอรี่  ในกรณีที่เป็น Active RFID ก็จะเป็น Tag แบบมีแบตตอรี่  และก็จะมีเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี (RFID Reader) ที่คอยรับค่าจาก RFID Tag  โดยเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี  (RFID Reader) จะติดตั้งในจุดที่ต้องการจะอ่าน RFID Tag เช่นประตูเข้าออก เป็นต้น   ส่วนสุดท้ายคือส่วนซอฟท์แวร์  ซึ่งซอฟท์แวร์ของเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID) ไม่สามารถที่จะระบุตำแหน่งของ RFID Tag ได้   เพียงแค่สามารถบอกได้ว่า  ถูกอ่านด้วยเครื่องอ่าน (RFID Reader) ดังกล่าวหรือยัง  ตัวอย่างเช่น  ในกรณีที่ RFID Tag ถูกอ่านด้วยเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี (RFID Reader) ที่ห้องประชุมเวลา 9.00   ซอฟท์แวร์สามารถที่จะบอกได้ว่า  RFID Tag อยู่บริเวณห้องประชุมในเวลาดังกล่าว  หากมีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์เพิ่มเติม  ก็จะสามารถบอกได้ว่า  RFID Tag ดังกล่าวเข้าหรือออกห้องประชุม  แต่ไม่สามารถที่จะระบุได้ว่า  อยู่ในบริเวณไหนของห้องประชุม      

เทคโนโลยีทั้งสองต่างก็มีการนำมาใช้เพื่อติดตามวัตถุหรือบุคคลทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตามการจะเลือกเทคโนโลยีใดนั้นขึ้นอยู่กับความสำคัญของสิ่งของที่เราทำการติดตาม  หากเราต้องการรู้ถึงตำแหน่งของวัตถุดังกล่าวในลักษณะ Real time และต้องการทราบถึงตำแหน่งของวัตถุดังกล่าว  เทคโนโลยี RTLS ก็จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม  ในทางตรงกันข้ามหากต้องการทราบถึงการเคลื่อนไหว  ว่าวัตถุดังกล่าวผ่านจุดใดมาบ้าง  โดยไม่จำเป็นต้องรู้ตำแหน่งที่แน่นอนในลักษณะ Real time เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID) ก็จะเป็นทางเลือกได้