เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID) กับระบบการผลิตแบบลีน (Lean Production System, LPS)
แนวคิดการผลิตแบบลีน (Lean Production System, LPS) จะให้ความสำคัญในการลดทรัพยากร รวมทั้งเวลาที่ใช้ในกิจกรรมการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดพฤติกรรมใดใดที่ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าในการผลิต (non value added activities) หรือก่อให้เกิดความสูญเสีย (waste) และกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิต ในแนวคิดของการผลิตแบบลีนนั้น กิจกรรมดังกล่าวได้แก่
- การผลิตสินค้ามากเกินไป (overproduction) การผลิตสินค้ามากเกินความต้องการจะก่อให้เกิดความสูญเสียในทุกกิจกรรมของการผลิต รวมถึงเวลาที่ต้องจัดเก็บสินค้าเหล่านั้น
- การหยุดรอ (waiting) การที่จะต้องหยุดรอชิ้นส่วน หรืองานต่าง ๆ จากการกระบวนการผลิตขั้นก่อนหน้า จะทำให้เกิดความสูญเสียในด้านเวลาที่เสียไป
- การขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายสินค้า (transport) การที่ต้องเคลื่อนย้ายสินค้าโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดความสูญเสียในกิจกรรมการขนย้าน
- กระบวนการทำงานที่ไม่เหมาะสม (inappropriate processing) กระบวนการทำงานในลักษณะนี้จะเกิดจากขั้นตอนการทำงานที่มีความซับซ้อนเกินความจำเป็น ซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสีย ทั้งในด้านการขนส่ง และแรงงานที่ต้องทำงานในกระบวนการดังกล่าว
- สินค้าคงเหลือที่ไม่จำเป็น (unnecessary inventory) ประกอบด้วยองค์ประกอบการผลิตที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสีย ในหลายด้าน ได้แก่ ต้นทุนในการจัดเก็บ คุณภาพของสินค้าที่เสียไปตามระยะเวลาในการจัดเก็บ
- กิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น (unnecessary motion) การที่คนทำงานจำเป็นตัองเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อทำกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าในการผลิต
- สินค้ามีตำหนิ (defect) การผลิตสินค้าที่มีตำหนิมีผลโดยตรงต่อความสูญเสีย ในด้านต้นทุนการผลิต และต่อเนื่องไปถึงรายได้ที่จะได้รับ
จากแนวคิดข้างต้น จะเห็นได้ว่า กระบวนกการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดในการจัดเก็บข้อมูลนั้น จะก่อให้เกิดความสูญเสียในหลายส่วนตามตารางด้านล่าง
ชนิดของความสูญเสีย | ลักษณะของความสูญเสีย | หน่วยนับของความสูญเสีย |
การผลิตมากเกินไป (Over production) | เกิดข้อมูลที่ไม่ถูกต้องถูกบันทึกเข้าสู่ระบบ ซึ่งกรณีนี้สามารถทำให้เกิดการผลิตมากเกินไป เนื่องจากข้อมูลที่อยู่ในระบบ และปริมาณสินค้าที่มีอยู่จริงไม่ตรงกัน | ปริมาณสินค้าที่ผลิตเกิน |
การหยุดรอ (Waiting) | การเก็บข้อมูลด้วยบาร์โค้ดต้องอาศัยเจ้าหน้าที่มาทำการอ่านบาร์โค้ด จะใช้เวลามากกว่าในการเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติ | เวลา |
การเคลื่อนย้ายของสินค้า (Transport) | ในกรณีที่มีการอ่านบาร์โค้ดผิด อาจจะมีผลทำให้สินค้าดังกล่าวต้องถูกเคลื่อนย้ายมาให้เครื่องอ่านบาร์โค้ดทำการอ่านได้ | เวลา |
กระบวนการทำงานที่ไม่เหมาะสม (inappropriate processing) | กระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ทำให้เสียเวลาในการทำงาน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องหยุดงานในการผลิตมาทำการอ่านบาร์โค้ด | เวลา |
สินค้าคงเหลือที่ไม่จำเป็น (unnecessary inventory) | วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจะลดน้อยลง | ปริมาณสินค้าที่ผลิต |
การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น (unnecessary motion) | กระบวนการทำงานที่เจ้าหน้าที่ต้องหยุดการทำงานในการผลิต เพื่อทำการอ่านบาร์โค้ดเพื่อทำการบันทึกข้อมูล | เวลา |
สินค้ามีตำหนิ (defects) | สินค้าที่ผลิตแล้วมีตำหนิ ไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้เกิดความสูญเสียวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต | ปริมาณสินค้าที่เสียหาย |
จากข้อจำกัดของเทคโนโลยีบาร์โค้ดที่ใช้ในการผลิตในปัจจุบัน ทำให้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) เข้ามีบทบาทในการลดความสูญเสีย และช่วยให้ระบบการผลิตสามารถปรับตัวเป็นระบบการผลิตแบบลีน (Lean Production, LPS) ประโยชน์ของเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) ในการผลิตแบบลีน (Lean Production System LPS) สามารถแยกพิจารณาได้เป็นสามประเด็น ได้แก่
- การเก็บข้อมูล (Data collection) จากที่เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) สามารถอ่านข้อมูลโดยไม่ต้องอาศัยคนมาทำงานอ่านเหมือนเทคโนโลยีบาร์โค้ด ทำให้การเก็บข้อมูลในขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ สามารถทำการเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติได้ ซึ่งมีผลโดยตรงทำให้ลดการสูญเสีย (waste) ในการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น (unnecessary motion) เจ้าหน้าที่ไม่ต้องมาหยุดการผลิตสินค้า เพื่อทำการอ่านแถบบาร์โค้ด และทำการบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบ นอกจากนั้นยังช่วยในการลดการเคลื่อนย้ายของสินค้าที่ไม่จำเป็น (transport waste) เจ้าหน้าที่ไม่ต้องยก (เคลื่อนย้าย) สินค้ามาทำการอ่านด้วยเครื่องอ่านบาร์โค้ด เมื่อสินค้าหรือวัสดุ มาถึงจุดที่ติดตั้งเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี (RFID Reader) เครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี (RFID Reader) จะทำการข้อมูลจาก RFID Tag ที่ติดมากับสินค้าอย่างอัตโนมัติ โดยที่เจ้าหน้าที่ต้องมีการเคลื่อนไหวใดใด
- การเชื่อมโยงของข้อมูล (Data Dependency) หากการเชื่อมโยงของข้อมูลระหว่างสินค้า และข้อมูลการผลิตมีความผิดพลาด มีผลให้เกิดความสูญเสียได้หลายประการ เช่น ความสูญเสียในการรอคอย (waiting) หากมีการอ่านบาร์โค้ดผิดพลาด เจ้าหน้าที่อาจจะต้องเสียเวลาในการรอ เพื่อทำการแก้ไขระบบ หากมีการบันทึกข้อมูลที่ผิดพลาดเข้าสู่ระบบ เช่น การอ่านบาร์โค้ดผิด หรือการรายงานจำนวนสินค้าที่กำลังผลิตแตกต่างไปจากความเป็นจริง จะทำให้เกิดความสูญเสียในหลายด้าน ได้แก่ ความสูญเสียในการเกิดสินค้าเสียหาย (defects) ความสูญเสียด้านการผลิตเกินจำนวน (overproduction) หรือความสูญเสียที่เกิดจากจำนวนสินค้าคงเหลือที่ไม่จำเป็น (unnecessary inventory) เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) ทำการอ่านข้อมูลเป็นอัตโนมัติ ซึ่งผลให้ความผิดพลาดต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ให้คนทำการอ่านและบันทึกข้อมูลลดหายไป
- เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) จะมีส่วนช่วยในการลดความสูญเสียในกระบวนการทำงาน จากเดิมที่ใช้การเก็บข้อมูลแบบโดยอาศัยเจ้าหน้าที่จดลงในเอกสาร แล้วนำมาบันทึกเข้าสู่ระบบส่วนกลางเพื่อประมวล เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) ทำให้การเก็บข้อมูลทั้งระบบมีลักษณะอัตโนมัติ
- ความสามารถที่จะได้รับข้อมูลที่ทันเวลาเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากในการตัดสินใจในการผลิต หากได้รับข้อมูลไม่ทันเวลา อาจจะทำให้ความสูญเสียในการผลิตได้สองประการ คือ การผลิตสินค้ามากเกินไป (overproduction) หรือการมีสินค้าคงเหลือที่ไม่จำเป็น (unnecessary inventory) เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) สามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการรับรู้ของข้อมูลได้ ทำให้สามารถที่จะรับรู้ถึงข้อมูลได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยสามารถที่จะรับทราบสถานะของสินค้าที่ทำการผลิต ได้ตั้งแต่ระดับล๊อตการผลิต จนถึงระดับสินค้าหลายชิ้น และสามารถที่จะติดตามสถานะได้ไปตลอดทุกขั้นตอนการผลิต นอกจากนั้นระบบยังสามารถที่ให้ข้อมูลในทันทีทันใดได้ การให้ข้อมูลในลักษณะนี้ ทำให้ผู้บริหารมีข้อมูลที่พร้อมในการตัดสินใจใดใด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในสองลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น
สรุป
เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID Technology) สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบลีน (Lean Production System, LPS) โดยประโยชน์ที่จะได้รับสามารถสรุปได้ตามตารางด้านล่าง
การบริหารสินค้าระหว่างการผลิต (WIP) | การบริหารสินค้าคงคลัง | การบำรุงรักษาเครื่องจักรในการผลิต | การควบคุมการผลิต | |
การผลิตมากเกินไป (Overproduction) | ทราบถึงปริมาณสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิตแต่ละขั้น | รับทราบถึงปริมาณสินค้า/วัตถุดิบคงคลัง | – | ส่งเสริมการบริหารการผลิตแบบ Just in Time |
การรอคอย (Waiting) | ทราบว่าสินค้าสำเร็จรูปหรือวัตถุดิบอยู่ทีไหน | ทราบว่าสินค้าสำเร็จรูปหรือวัตถุดิบอยู่ทีไหน | ทราบว่าอุปกรณ์หรือเครื่องจักรอยู่ที่ใด และมีสภาพอย่างไร | เพิ่มความสามารถสินค้า หรือวัตถุดิบให้ตอบสนองต่อการผลิตได้มากยิ่งขึ้น |
การขนส่ง (Transport) | ทราบว่าสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิตควรจะเคลื่อนย้ายไปที่ใด | ทราบว่าสินค้าที่ผลิตเสร็จที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ใด | ทราบว่าตำแหน่งของอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่อยู่ใกล้ที่สุด | สามารถทำการปรับสายการผลิตได้อ้ตโนมัติ |
กระบวนการทำงานที่ไม่เหมาะสม (Inappropriate processing) | ทราบว่าสินค้าหรือวัตถุดิบใดที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการทำงานขั้นใด | ทราบว่าวัตถุดิบใดที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการทำงานขั้นใด | ลดการผลิตที่ผิดพลาด จากการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ผิดพลาด | ทราบว่าสินค้าหรือวัตถุดิบใดที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการทำงานขั้นใด |
การเก็บสินค้าคงคลังที่ไม่จำเป็น (Unnecessary inventory) | ลดข้อผิดพลาดในการจัดเก็บสินค้าระหว่างการผลิต | เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บสินค้าคงคลัง | เพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาเครื่องจักร | – |
การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น (Unnecessary motion) | ลดขั้นตอนการทำงานแบบ Manual | ลดการนับแบบ Manual | ลดการตรวจสอบเพื่อบำรุงรักษาแบบ Manual | – |
เสียหาย (Defects) | ลดความเสียหาย เนื่องจากสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ | ทราบว่า สินค้าหรือวัตถุดิบใดใกล้วัดหมดอายุ | – | – |
แหล่งที่มา
Brintrup A, Roberts P, and Astle M. Report: Methodology for manufacturing process analysis for RFID implementation, BRIDGE Project, March 2008
Brintrup A, Roberts P, and Astle M. Definition of RFID Decision Support System for Manufacturing Applications, BRIDGE Project, June 2008
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!